อย่าเพิ่งตัดสินใจ ถ้ายังไม่ได้ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ใช้จริง เผยทุกรายละเอียด เพื่อวางแผนก่อนการติดตั้ง Solar Cell
เมื่อภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการผลิตต่างๆ ย่อมต้องหาวิธีการประหยัด เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar cell เริ่มถูกพิจารณาเพื่อเป็นตัวเลือกในการลดต้นทุน เพราะค่าไฟฟ้าคือนัยสำคัญของราคาต้นทุนโดยรวม ปัจจุบันเทคโนโลยีด้าน Solar cell ก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาแผงโซลาร์ที่ถูกลง แต่การจะตัดสินใจติดตั้ง Solarl cell ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ย่อมมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญอยู่หลายประการด้วยกัน
M Report จึงเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มองค์ความรู้ ต่อยอดความเข้าใจในปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพื่อคุ้มค่าต่อการติดตั้ง จึงได้จัดงานเสวนาขึ้น ภายใต้หัวข้อ“ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ณ บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด (โรงงาน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี)
โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ Mr. Ammar Azhar Senior Engineer, Panasonic Malaysia (Solar module factory) คุณอาชว์ ริยะจันทร์ Assistant Manager, Sales Engineering Section, Panasonic Life Solutions Sales (Thailand) Co., Ltd. คุณพินิจ อัศวานุชิต Managing Director, Intersol Consulting Co., Ltd. ที่มาให้ความรู้ และข้อมูลเชิงลึก ที่เกี่ยวกับระบบต่างๆ รวมถึงกระบวนการติดตั้ง และยังมีผู้ร่วมเสวนาจาก BOI คุณภาคภูมิ บูรณบุณย์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ มาให้คำแนะนำถึงขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งท่านซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเสวนาครั้งนี้คือ คุณอานนท์ เรืองจรุงพงศ์ Chief Operation Officer Thai Stainless Steel Co., Ltd. ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรงจากการติดตั้งและใช้งานจริง Solar Cell โดยคุณอานนท์ ได้เผยทุกข้อมูลประสบการณ์ตรง จากการติดตั้ง Solar Cell เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะติดตั้ง อย่างแท้จริง
เริ่มต้นจากปัญหาการแบกรับค่าไฟฟ้าปีละกว่า 20 ล้านบาท
บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องครัวสเตนเลสสตีล และนอนสติ๊กภายใต้แบรนด์ ตราซีกัล (Seagull) ตราจรวด (Rocket) ตราจิงโจ้ (Kangaroo) ก่อตั้งมากว่า 40 ปี ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดือนละไม่ถึงหนึ่งล้านบาท เป็นเดือนละเกือบสองล้านบาท จนในที่สุดแตะที่สองล้านบาท คำนวณแบบคร่าว ๆ ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละกว่ายี่สิบล้านบาท ซึ่งเป็นการแบกรับต้นทุนที่สูง ทำให้เริ่มมองเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญต่อราคาค่าต้นทุน จึงเริ่มมองหา Solution สำหรับการประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต
เมื่อมองเห็นปัญหา จึงเริ่มมองหา Solution
โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเรื่องการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มกำไร ทางเลือกแรกคือการเข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ ที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่เสมอ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อประหยัดพลังงาน เช่นการเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เปลี่ยนเครื่องปั๊มลมรุ่นใหม่ รวมไปจนถึงเปลี่ยนเครื่องจักรประเภทเครื่อง Test ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือสามารถประหยัดพลังงานลงได้ระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรเก่าเคยใช้พลังงานคิดเป็น 100% ลงทุนเครื่องจักรตัวใหม่ราคา 5 ล้านบาท สามารถประหยัดพลังงานลงได้เหลือ 80% ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าพอใจแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ จึงมองหา Solution อื่นเพิ่มเติม
“เมื่อบริษัทฯ ได้รับข่าวสารจาก BOI เรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน สนับสนุนการติดตั้ง Solar Cell รวมทั้งทางบริษัทฯ มีความสนใจในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์อยู่เป็นทุน ยิ่งได้ศึกษาถึงความคุ้มทุน จึงตัดสินใจติดตั้ง Solar Cell เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการผลิตที่โรงงานไทยสเตลเลสสตีล”
Solar Cell อาจตอบโจทย์ แต่ก็มีสิ่งซึ่งต้องศึกษาวางแผน
การวางแผนก่อนการติดตั้ง Solar Cell ถือเป็นโจทย์หลักใหญ่ที่คุณอานนท์ ให้ความสำคัญ เนื่องด้วยต้องคิดให้รอบด้าน และวางแผนให้รัดกุม เพราะนั่นหมายรวมถึงความปลอดภัยทั้งของบุคคลากรในองค์กรเอง และสถานที่ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมี EPC (Engineering Procurement Construction) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ข้อแนะนำสำหรับการศึกษาโครงการ ทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบสถานที่ และความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะทำการติดตั้ง
- ตรวจสอบโครงสร้างของหลังคาที่จะทำการติดตั้ง เนื่องจากต้องรับภาระน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างของหลังคาจึงต้องมีความแข็งแร็ง สำหรับไทยสแตลเลสสตีลมีการดำเนินการ ในการปรับเสริมโครงสร้างหลังคาเพื่อให้ได้มาตรฐานลองรับการติดตั้ง Solar Cell
- ตรวจสอบทิศทางลม เนื่องจากการติดตั้งแผง Solar Cell เป็นการติดตั้งในลักษณะสูงลอยขึ้นจากตัวหลังคาเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อมีลมผ่านเข้ามาจำนวนมาก อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายได้
- ทิศของการติดตั้ง ควรติดตั้งทางทิศใต้ เนื่องจากประเทศไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมา จึงควรติดตั้งแผง Solar Cell ระนาบรับแสงให้หันไปทางด้านทิศใต้
- การวางแผนสำหรับจุดคุ้มทุน เนื่องด้วยประเด็นนี้มีปัจจัยหลายอย่าง เราจึงควรปรึกษาสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ดำเนินการติดตั้ง Solar Cell เป็นผู้แนะนำให้ชัดเจน
- วางแผนการในช่วงระหว่างการติดตั้ง การติดตั้ง Solar Cell ใช้ระยะเวลา 3 เดือนโดยประมาณ นั้นหมายความว่าระหว่างการติดตั้งนั้น ด้านในอาคารย่อมมีการทำงานปกติ ซึ่งส่วนนี้ต้องสอบถามจากผู้ติดตั้งถึงขั้นตอนกระบวนการที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อวางแผนรับมือ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
เตรียมให้พร้อมทั้งด้านข้อมูล สถานที่ พร้อมเข้าสู่การติดตั้ง Solar Cell
ไทยสแตลเลสสตีล ใช้งบประมาณในการติดตั้งเบ็ดเสร็จประมาณ 50 ล้านบาท ทำการติดตั้งลงบนพื้นที่ของหลังคาโรงงานขนาด 3,570 ตารางเมตร ใช้แผง Panasonic HIT 330 Watt ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยี HIT สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้มากขึ้น +20% ที่อุณหภูมิ 25 C และมากขึ้น +30 % ที่อุณหภูมิ 72 C ประสิทธิภาพผลผลิตพลังงานสูงขึ้น 19.7 % มีการรับประกัน 25 ปี กำลังการผลิตขั้นต่ำที่ 80%
ปริมาณผลผลิตไฟฟ้าจาก Solar cell
ปี 2560 - ปี 2562
ปี 2562 : เดือน ก.พ/เม.ย : off solar cell 7 วัน (เดือน ก.พ : PEA -Maintenance 2 วัน/เดือน เม.ย : วันหยุดสงกรานต์ 5 วัน)
หมายเหตุ : คิดอัตราค่าไฟฟ้า (บาท) คูณตามอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของเดือนนั้นๆ ~ (4.2 บาท) ปี 2560 = 4.05 บาท, ปี 2561 = 4.2 บาท, ปี 2562 = 4.50 บาท
“ ได้ผลผลิตไฟฟ้า solar cell เฉลี่ย 1,100,000 หน่วย/ปี
จำนวนเงินที่ลดค่าไฟได้ 4.5 ล้านบาท/ปี
ระยะเวลาการคืนทุนคาดว่า 6.2 ปี ”
นับจากการติดตั้ง Solar Cell เสร็จสมบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของไทยสเตนเลสสตีลที่จัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทย และส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้ถูกผลิตโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ถึง 25% และประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ถึง 30% ในไลน์ผลิตของไทยสแตลเลสสตีลส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรประเภท Press machine , Mechanical press , Hydraulic press , Forging
ภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Cell และการใช้ไฟฟ้าจาก PEA
คำถามที่มักพบบ่อยเกี่ยวกับการเลือกแผ่น Solar Cell
Q : คุณภาพของแผ่น Solar Cell มีให้เลือกหลายเกรด หลายราคา ควรเลือกอย่างไร
A : มีผู้ผลิตแผ่น Solar Cell จากหลากหลายแบรนด์ บางแบรนด์มีราคาแพง ในขณะที่บางแบรด์ก็ราคาถูกมาก ดังนั้นเราต้องหาข้อมูลรายละเอียดที่ว่าด้วยเรื่องของคุณภาพของแผ่น เลือกแบรนด์ที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือมีการให้ข้อมูลในการรายงานผลจากผู้ใช้จริงว่าไม่พบปัญหา หรือพบปัญหาน้อยที่สุด เพราะเราต้องใช้แผ่น Solar Cell จำนวนมากในการติดตั้ง และใช้ในระยะเวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน
Trick : สิ่งสำคัญที่เราต้องทราบก่อนการตัดสินใจเลือกแผง Solar Cell คือข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องของระยะเวลาที่แผ่น Solar Cell จะเริ่มชำรุด ด้วยระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนาน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชำรุดระหว่างการใช้งาน แต่ควรที่จะเหมาะสมและสอดคล้องกับการที่ผู้ผลิตการันตีรับประกันการเปลี่ยนแผ่น กรณีเลือกใช้แผ่นที่มีราคาถูก แต่พบปัญหาบ่อย ต้องปรับเปลี่ยน หรือซ่อมแซมบ่อย ก็เท่ากับเกิดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง
Q : มีพื้นที่ในการติดตั้งที่จำกัด เลือกแผ่น Solar Cell อย่างไรให้ได้วัตต์สูงๆ
A : เมื่อเรามีพื้นที่ติดตั้งจำกัด เราต้องคำนวณว่าแผ่น Solar cell ที่เราเลือกจะใช้จะสามารถผลิตวัตต์ได้เท่าไรต่อแผ่น จากนั้นจึงมาดูว่าเราต้องการทั้งหมดกี่วัตต์ แล้วจึงมาคิดคำนวณต่อถึงจำนวนแผ่น Solar Cell ที่ต้องใช้
Trick : เรื่องนี้มีข้อควรระวังที่สำคัญคือ เมื่อการคำนวณก่อนใช้ กับเวลาใช้งานจริง ไม่สามารถผลิตวัตต์ได้ตามที่คำนวณไว้ ซึ่งในช่วงที่ไทยสเตลเลสสตีลทำการศึกษาเรื่องนี้ พบว่า มีหลายยี่ห้อใช้วิธีการส่งแผ่นมาให้เกินจำนวน เพื่อให้ได้วัตต์ตรงตามเป้าหมาย ซึ่งหมายความว่าต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งเพิ่มขึ้น ใช้อุปกรณ์ในการติดตั้งเพิ่มขึ้น รวมถึงแบบในการติดตั้งก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนใหม่
แต่ทางไทยสเตลเลสสตีลไม่พบปัญหานี้ เนื่องจากแผ่นที่เลือกใช้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่ดี ผลที่ได้จากจำนวนวัตต์ต่อแผ่นสูงกว่าเกณฑ์ที่การันตีไว้
“การติดตั้ง Solar Cell ก็เหมือนกับการสร้างบ้าน
ควรเน้นความสำคัญที่ผู้ออกแบบหรือผู้ติดตั้ง”
บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด ผู้ประกอบการที่เดินหน้าปรับเปลี่ยนนวัตกรรมการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการอนุรักษ์พลังงานทุกมิติ ทั้งประหยัดการใช้พลังงานด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ และเครื่องจักรในการผลิต ลดอัตราการสูญเสียพลังงานลง และลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ นำมาซึ่งความสำเร็จในการลดต้นทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ในอากาศ 575,850 กิโลกรัม/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 26,415 ต้น หรือประมาณ 4.3 เท่าของสวนลุม